Saturday, January 22, 2011

(-_-) ถามมา....ตอบไป (^o^)

     วันนี้ที่เอามาให้ได้อ่านกันก็เป็นไปตามเนื้อเรื่องเลยครับ คือ "ถามมา...ตอบไป" ผมได้รวมคำถามยอดฮิตที่ชอบถามกันเวลาที่ไปให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งที่มาของคำถามนี้เป็นจากประสบการณ์ของตัวผมเองและจากเพื่อนๆ ด้วยครับลองมาดูดีกว่าว่ามันเป็นคำถามยอดฮิตตรงใจกับหลายๆ คนรึเปล่า

คำถามที่ 1 "หลังจากได้รับยาครั้งที่แล้วมีอาการผิดปกติอะไรบ้างรึเปล่า?" หรือ "ใช้ยาตัวนี้แล้วมีอาการอะไรผิดปกติบ้างครับ"
    คำตอบที่ได้รับมาจากคนไข้เกือบทุกคน คือ "ไม่มี" หรือ "ไม่เคยมีนะ" แต่พอลองถามเป็นคำถามปลายปิด เช่น เคยมีอาการแบบนี้หลังกินยาไหม, กินยาไปแล้วมีอาการแบบนี้บ้างรึเปล่า เพื่อให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ครับ เพราะบางครั้งอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นคนไข้ไม่เข้าใจว่ามาจากยาและถ้ามันเกิดเป็นประจำโดยที่ไม่มีการบอกตั้งแต่แรกว่าถ้าใช้ยา A แล้วจะเกิดอาการนี้ คนไข้ก็คิดว่ามันเป็นปกติมั้ง

    ถ้าเป็นตัวผมเองผมจะถามก่อนเพื่อเปิดโอกาสให้คนไข้เล่าสิ่งที่เค้าอยากเล่า และถ้าตอบว่าไม่ผมจะถามต่อไปเป็นอาการที่สำคัญเพื่อให้ได้คำตอบที่เราต้องการ เราลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า


Case 1 ผู้ป่วยหญิงไทยเคยได้รับยา Digoxin แล้วมีประวัติการเกิด Digoxin intoxication เมื่อปีที่แล้วใน Profile ของผู้ป่วยมีการเขียนระบุไว้อย่างชัดเจนครับว่ามีอาการอะไรบ้าง
วันที่ผู้ป่วยมารับยาครั้งล่าสุดผมเลยถามว่า

Tan : ตอนที่มารักษาที่โรงพยาบาลเพราะเกิดพิษจากยามีอาการอะไรบ้างครับ
Pt    : มันมีอาการวิงเวียนมากเลย แล้วก็เริ่มเห็นแสงเป็นกลมสว่างๆ สีเขียวๆ เหลืองๆ แล้วตอนนั้นก็รีบมาโรงพยาบาลเลย
Tan : ก่อนที่มารับยาครั้งนี้เคยมีอาการแบบนี้อีกหรือเปล่าครับ
Pt   : เปล่าค่ะ ไม่มีเลยเพราะหลังจากนั้นหมอปรับลดยาลงแล้วก็รับประทานแบบเดิมมาตลอด

    เคสนี้ค่อนข้างง่ายครับ เพราะว่าเรามีประวัติข้อมูลคนไข้อยู่กับตัวเอง ผมต้องการให้เล่าอาการที่เกิดขึ้นกับตัวคนไข้เองมาก่อนจึงถามคำถามปลายเปิดแบบนั้นไป

Case 2 ผู้ป่วยชายสูงอายุมีโรคประจำตัว คือ เบาหวานมี(อย่างอื่นอีกด้วยนะครับ) ได้รับยา Metformin และอื่นอีกเยอะมากมายครับ (5 รายการยา)

Tan : เคยมีอาการผิดปกติไหมครับ
Pt   : ไม่เคยนะกินมานานแล้วก็เหมือนเดิม
Tan : แล้วมีคลื่นไส้อาเจียนบ้างรึเปล่าครับ
Pt   : อ้อเป็นประจำเลยเพราะกินยาเม็ดนี้ (Metformin) แล้วมันมีคลื่นไส้หลังกินข้าว

    จากตรงนี้ผมก็ได้คำตอบที่ต้องการแล้วว่าผู้ป่วยทานยา Metformin แล้วมีคลื่นไส้อาเจียนบ้างแต่ไม่มากเท่าไหร่พอสอบถามไปอีกก็พบว่าลุงแกกินยาหลังข้าวไปค่อนข้างนานครับเลยแนะนำให้ทานยาหลังอาหารทันทีเลย ลุงแกก็เข้าใจครับแล้วบอกว่ากลับไปจะไปลองทำดู

   จาก 2 ตัวอย่างคงพอเห็นภาพแล้วนะครับว่าผู้ป่วยแต่ละคนจะมีวิธีการตอบคำถามไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องหาวิธีการถามที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถตอบคำถามไปในแนวทางที่เราต้องการ เพื่อที่จะนำข้อมูลมาใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยได้

คำถามที่ 2
"ลืมทานยาบ้างรึเปล่าครับ" หรือ "ทานยาครบตามที่แพทย์สั่งหรือเปล่า"
    อันนี้ต้องบอกก่อนเลยว่ามีหลากหลายมากทั้งตอบว่า "ครบ" (ไม่รู้ว่าครบจริงรึเปล่า), ลืมบ้างแต่ไม่เยอะ อันนี้เป็นคำถามที่ชอบถามกันแล้วก็ได้คำตอบที่ไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ เพราะงั้นผมว่าทุกคนจะต้องมีเทคนิกเฉพาะตัวอยู่แล้วว่าทำยังไงถึงจะรู้่ว่ากินยาครบรึเปล่า สำหรับผมเองก็มีวิธีเฉพาะตัวเหมือนกันครับ ขั้นแรกอย่าทำให้คนไข้รู้สึกว่าเป็นความผิดหรือไปดุคนไข้ถ้าลืมกินยา ต่อมาลองถามคำถามแบบแรกไปก่อนแล้วอาจถามต่อไปอีก เช่น

    "ดีมากเลยที่กินยาครบเพราะถ้ากินยาไม่ครบแล้วการรักษาจะไม่ได้ผล แล้วเราต้องใช้ยามากขึ้นแล้วแถมมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้ากินยาแล้วสามารถควบคุมโรคได้ก็ไม่ต้องใช้ยาเพิ่มแล้ว" อันนี้ไม่ได้เป็นคำถามที่ดีมากครับเป็นคำพูดที่แสดงออกถึงผลเสียที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไรผู้ป่วยจะตะหนักมากขึ้นครับว่าการใช้ยามีความสำคัญจะลืมไม่ได้เลย

    "ทานยาช้าไปครึ่งชั่วโมงกี่ครั้ง" (อันนี้เป็นตัวอย่างของยา ARV) คนไข้บางคนก็จะตอบมาเลยว่ามีช้าไปบ้าง ถ้าถามว่ากี่มื้อก็ถามกันต่อไปครับ
    คำถามเรื่องความสม่ำเสมอของการทานยาเป็นคำถามที่จำเป็นอีกอันนึงครับ เพราะว่ายาบางชนิด เช่น Antiretroviral, Warfarin ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเราต้องหาวิธีทำยังก็ได้ให้คนไข้กินยาครบ แต่ก่อนหน้านั้นต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนครับว่าผู้ป่วยทานยาครบรึเปล่า

คำถามที่ 3 "เคยมีความดันต่ำรึเปล่า" หรือ "เคยมี...รึเปล่า"
(... หมายถึง Technical Term แปลเป็นภาษาไทยแล้ว)


    เคยเผลอถามแล้วคนไข้ทำหน้างง แล้วตอบว่า "ไม่มี" หรือ "มันมีอาการยังไง" ผมเลยถามว่า มีอาการมึนงงตอนลุกจากนั่งเป็นยืนรึเปล่า ตอนเช้าเวลาลุกขึ้นแล้วมีมึนงงรึเปล่า แล้วสรุปให้คนไข้ฟังอีกทีนึงครับว่าอาการนี้มันเป็นอาการของความดันต่ำ อาการอื่นๆ ก็เหมือนกันครับเราต้องพูดอาการสำคัญที่จะเกิดขึ้นก่อนแล้วสรุปให้คนไข้ฟังอีกทีนึงว่า อาการนี้แสดงถึงภาวะอะไร
   
    ดังนั้นเราต้องแปลงภาษาไทยเป็นภาษาที่ผู้ป่วยเข้าใจง่ายก่อน เพื่อที่ทำให้คนไข้ให้คำตอบกับเราตามจริงและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง

    เขียนมาซะนานเลยผมสรุปแล้วคำถามที่ยกตัวอย่างมานี่ ไม่ใช่สิ่งที่ห้ามถามนะครับ สามารถถามได้เพราะเป็นคำถามกว้างๆ แล้วจึงถามคำถามอื่นๆต่อไป
  
    คิดว่าหลายๆคนคงเคยถามแล้วได้คำตอบแบบเดียวกันกับที่ผมเจอมาเอง สุดท้ายฝากเอาไว้ว่าการ Counseling เป็นการทักษะเฉพาะตัวจริงๆ การที่เราจะสร้างทักษะให้แก่ตัวเราเองนั้นต้องอาศัยการฝึกฝนยิ่งทำมาก ยิ่งได้มากครับเพื่อนมีอะไรจะเล่าสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นกันได้เลยครับ