Friday, February 4, 2011

ไม่มีใครดูแล...ผู้ป่วย Alzheimer จะเป็นยังไงนะ

     อันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ป่วย AD โดยเฉพาะเลย เพราะคนไข้ AD มักเสียความจำระยะสั้นไปลืมตลอดเวลาว่ากินยาหรือยัง แล้วถ้าต้องอยู่คนเดียวล่ะจะแก้ปัญหายังไงดี

    คนไข้รายนี้เป็นผู้ป่วยหญิงไทย ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Early Alzheimer's disease ยาที่ได้รับในการรักษาคือ Galantamine ซึ่งดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแต่นั่นไม่ใช่เรื่องทั้งหมดครับ เพราะว่าคนไข้มาที่ห้องให้คำปรึกษาพร้อมกับยา 3 ถุงใหญ่และอีก 1 ตะกร้าเต็มๆ

    ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหามาก แต่พอได้คุยกับคนไข้แล้วพบว่าคนไข้ มีโรคประจำตัวหลายโรคมากและต้องรักษากับแพทย์หลายคน ดังนั้นยาทีได้รับจึงมีความซ้ำซ้อนกันมาก ลองมาดูถุงยาของคนไข้กันดีกว่าครับว่าเป็นยังไงบ้าง
อันนี้คือถุงยาทั้งหมดที่คนไข้เอามาที่ห้องให้คนปรึกษาครับ

 



     โรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็นได้แก่ Early AD, ไขมันในหลอดเลือดสูง, กระดูกพรุน, ภูมิแพ้ แล้วลองมาดูกันนะครับว่ายาที่ผู้ป่วยเอามาให้มีอะไรบ้างผมจะแบ่งเป็นข้อบ่งใช้จะได้อ่านง่ายๆ

โรคไขมันในเลือดสูง
1. Atorvastatin
2. Rosuvastatin
3. Fenofibrate

โรคกระดูกพรุน
1. Glaykay
2. Calcium carbonate
3. Raloxifene

โรคภูมิแพ้
1. Fexofenadine
2. Ketotifen

AD
1. Galantamine

    นอกจากนี้ยังมี MTV, Vitamin B1-6-12, Phamaton, สมุนไพรต่างๆ แถมยังมียาอื่นที่เป็นยาจากคลินิกต่างๆ อีกนับกันไม่ไหวจริงๆ

    แต่สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้น คือ ยาที่ผู้ป่วยรับประทานไปนั้นบางตัวหมดอายุแล้ว แต่ผู้ป่วยยังรับประทานอยู่และบางตัวก็ทานไม่สม่ำเสมอ นี่ยังไม่นับรวมที่ทาน Atorvastatin ร่วมกับ Rosuvastatin แต่ไม่ยอมทาน Fenofibrate เพราะคิดว่าเป็นยาลดไขมันเหมือนกันทานตัวเดียวก็พอ รวมทั้งยาที่ผู้ป่วยทานอยู่นั้นบางตัวแพทย์ไม่ได้สั่งแล้วแต่ก็ยังทานอยู่

     จากยาทั้งหมดทำให้ผู้ป่วยทานยา Galantamine ไม่สม่ำเสมอ เพราะมียาเหลือเยอะพอสมควรถ้านับจากวันที่มาพบแพทย์จนถึงวันนัด ยาไม่น่าจะเหลือเยอะขนาดนี้ดังนั้นอาการของ AD จึงไม่ดีขึ้น (ผู้ป่วยจะถามข้อบ่งใช้ของยาเดิมทุก 5 นาทีเลย)

    วิธีแก้ปัญหานี้ในเคสนี้ก็ไม่มีอะไรมากครับ ต้องตรวจสอบการสั่งยาทั้งหมดให้เป็นปัจจุบันก่อนแล้วคัดยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งแล้วออกมาให้หมด ยาที่เหลือก็มีตามรายการนี้เลยครับ
1. Galatamine
2. Rosuvastatin
3. Fenofibrate
4. Glaykay
5. Calcium Carbonate
6. Fexofenadine
7. Ketotifen
8. MTV
   
    ส่วนยาที่เหลือเป็นยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งแล้วและเป็นยาที่หมดอายุ คนไข้เลยสบายใจขึ้นมาหน่อยเพราะว่ายาที่ได้รับน้อยลงกว่าเดิม แต่ยังไม่ได้ทำแค่นั้นครับ เพราะว่าก่อนให้ยากลับบ้านได้ทำการนับยาให้คนไข้กลับไปพอกับวันก่อนที่จะมาหาแพทย์แต่ละราย ยาเลยลดลงไปอีก

    ทีนี้เรื่องการกินยาในแต่ละวันของคนไข้ตอนนี้ผู้ป่วยมีเพื่อนมาอยู่ด้วยเลยมีคนจัดยาใส่ตลับให้ แล้วคนไข้จะพกยาตลับนั้นติดตัวอยู่ตลอดเวลา เวลาที่ไม่แน่ใจว่าลืมกินยาหรือยังจะหยิบตลับขึ้นมาดู ถ้ายาในช่วงของมื้อไหนไม่มี แสดงว่ากินไปแล้วแต่ไม่ต้องห่วงว่าจะจัดยาไม่ครบนะครับ เพราะคนจัดยาเป็นคนที่อยู่ด้วยครับ

    จากคนไข้รายนี้คงเห็นแล้วว่าผู้ป่วย AD ที่มีปัญหาในเรื่องความจำนั้นมีปัญหาเรื่องการรับประทานยามาก ถ้ามีคนดูแลก็ดีไป แต่ถ้าไม่มีคนดูแลล่ะครับ จะเป็นยังไงถ้ากินยาผิดๆถูกๆ ลืมกินบ่อยประสิทธิภาพในการรักษาก็ลดลง อาการของผู้ป่วยก็จะแย่ลงไปอีกด้วย ในผู้ป่วยรายนี้ยังถือว่าโชคดีนะครับ เพราะว่าช่วงหลังมีคนมาดูแลให้รับประทานยาสม่ำเสมอ

   อันนี้คงเป็นเคสสุดท้ายของ OPD แล้วอาทิตย์หน้าต้องขึ้น IPD จะเอามาเล่าให้ฟังกันอีกนะครับ