Tuesday, May 3, 2011
ข้อคิดดี อยากให้อ่าน ^o^
at
12:02 AM
ก็เริ่มเรื่องเลยแล้วกัน เพื่อนเคยคิดไหมว่าเรามีหน้าที่อะไร???
ไปบน Ward เราจะไปทำงานอะไรได้บ้าง???
แล้วทำไม แพทย์จึงไม่ค่อยยอมรับเราเวลา ไปขึ้น Ward
เพื่อนหลายคนเห็นว่าทำไมงานที่ Acute care มันได้รับการยอมรับจากทีมยากจังเลยนะ อันนี้เป้นสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนเกิดความท้อในการที่จะทำงานโรงพยาบาลก็ได้ แต่เราลองมาคิดกันดูดีกว่า ว่าถ้าเราคิดจะไปทำเนี่ยเราต้องทำอะไรบ้าง อันนี้ผมจะเล่าจากประสบการณ์ของอาจารย์ที่ได้ฟังมานะครับ
1. อดทน ไปให้สม่ำเสมอ ถามไม่ถามก็ให้มีเราอยู่ตรงนั้น
อันนี้เป็นอย่างแรกเลยครับที่พวกเราต้องทำ เพราะ ว่าการเข้าไปร่วมทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพนั้น เรายังได้รับความสำคัญน้อยอยู่ เราเลยต้องทำให้เห้นก่อนว่าเราอยู่ตรงนั้นถึง จะต้องการหรือไม่ก็ตามลองนึกภาพดูนะครับแค่อพทย์หันมาทำเราคำถามเดียวว่า
"โรงพยาบาลเรามียาตัวนี้ ตัวนั้นรึเปล่า" แค่นี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว เพราะนั่นเป็นสิ่งที่แสดงว่าทีมรักษารับรู้ว่ามีเภสัชอยู่ตรงนั้น ถ้ามีคำถามที่เกี่ยวข้องกับยา เราก็เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลได้ดีที่สุดครับ
แต่ถ้าลองนึกภาพดูว่า เภสัช ขึ้นไปบ้างไม่ขึ้นไปบ้าง มาไม่ตรงเวลา เวลาที่ทีมไม่ต้องการเราก็ดีไป แต่ถ้าทีมการรักษามีคำถามแล้วเราก็ไม่อยู่มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรจริงรึเปล่าครับ
เพราะงั้นแล้วสิ่งแรกเลยที่เราต้องทำให้ได้คือ อดทนรอ และต้องไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของทีมรักษาและพร้อมที่จะให้ข้อมูลเสมอเมื่อมีคำถามเกิดขึ้น
2. หา DRP อย่างมีศิลปะ เราเป็นคนไม่ใช่เครื่อง Screen ใบสั่งยาเท่านั้น
การหา DPR เป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่เรื่องที่ไม่ดีคือเมื่อเราไปบน Ward แล้วเราจะไปหา DRP อย่างเดียว ซึ่งตรงนี้เองทำให้เราไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าไหร่ เพราะ ถ้ามีเภสัชขึ้นมา มักจะพกปัญหาติดตัวมาด้วยเสมอครับ การหา DRP ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ลองคิดดูว่าถ้าเราทำงานอยู่ชิ้นนึง แล้วมีใครที่ไหนไม่รู้ที่เราไม่คุ้นเคย มาตินู่นตินี่แล้วก็จับผิดเราตลอดว่าอันนี้ไม่ถูก ไม่เหมาะ ไม่ควร เราจะพอใจรึเปล่า
ในมุมกลับกันเอง แพทย์ก็เช่นกัน เมื่อมี DRP เกิดขึ้นแล้วใครล่ะเป้นคนผิดคนแรก ก็ต้องเป็น "Someone who write the prescription" ถ้าเราขึ้นไปจ้องแต่หา DRP เราก็เหมือนตัวปัญหาหรือตัวจับการทำงานของทีม แล้วจะทำให้เราไม่ได้รับการยอมรับจากทีมรักษา
อ้าว! แล้วเภสัชขึ้นไปบน Ward ถ้าหา DRP ไม่ได้หรือไม่ได้แก้ไขจะมีประโยชน์อะไร เพราะมีตัวชี้วัดคุณภาพหลายอย่างเลยที่ต้องรายงาน DRP และสามารถป้องกันแก้ไขได้เท่าไหร่
ผมไม่ได้มีเจตนาไม่ให้ หา DRP แต่อย่างที่บอกไปตอนต้นแล้วว่าการหา DRP ต้องใช้ศิลปะ อย่างนึง สมมตินะครัยว่าผู้ป่วยเกิด ADR คือ Stomatitis จากการใช้ 5-FU เราจะสมมติว่าเป็นเภสัชแล้วต้องทำการ Intervention ดูนะครับว่าเราควรพูดอย่างไรดีระหว่าง
- "ผู้ป่วยรายนี้บ่นว่ามีอาการเจ็บปากเจ็บคอ กินข้าวไม่ค่อยได้คาดว่าน่าจะเกิดแผลในช่องปากจากการใช้ยา 5-FU แต่หมอยังไม่ได้สั่งจ่ายยาเพื่อรักษาอาการดังกล่าวเลยครับ"
- "ผู้ป่วยรายนี้บ่นว่ามีอาการเจ็บปากเจ็บคอกินข้าวไม่ค่อยได้ คาดว่าน่าจะเกิดแผลในช่องปากจากการใช้ยา 5-FU ตอนนี้โรงพยาบาลของเรามี Sucralfate กับ Xylocaine viscous ครับถ้าหมออยากลองให้คนไข้ใช้ดูสามารถสั่งได้นะครับ แล้วทางห้องยาจะเตรียมได้เลยครับ"
ลองคิดดูนะครับว่าทั้งสองประโยคนี้ปลายทางเหมือนกัน แต่ว่าอย่างไหนฟังแล้วจะรื่นหูกว่ากัน เราเองก็คงอยากได้ยินแต่อะไรดีจริงไหมครับ เราเองก็ไม่อยากให้ใครมาจับผิดเหมือนกัน อันนี้เป็นตัวอย่างเล็กน้อยของการ Intervention ในเรื่อง Need for additional drug therapy
เพราะงั้นถ้าเราลองคิดคำพูดที่ดีไม่เป็นการไปกล่าวโทษแพทย์ เราก็จะได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นแล้วทัศนะคติไป จากตอนแรกอาจมองว่าเราเป็นเครื่องจับผิดการทำงานของทีม เปลี่ยนเป็นมองว่า เราสามารถช่วยเหลือทีมในการดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นได้
3. สร้างคุณค่าให้แก่ตัวเอง
ในบรรดาทั้งสามข้อผมว่าข้อ 3 เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถที่เราจะทำ ในการทำงานบน Ward คนที่สำคัญที่สุดถ้าจะไล่ลำดับดูก็คงเป็นแพทย์ พยาบาล
แล้วเราที่เป็นเภสัชกรจะแทรกซึมไปได้อย่างไรเนี่ย ที่จริงเราอาจจะได้รับความสำคัญรองเป็นอันดับ 3 เลยก็ได้เพราะว่าลองคิดดูนะครับว่า
- ไม่มีเภสัชพยาบาลก็ยังบริหารยาได้ฉีดยาได้ ให้ยาคนไข้กินได้
- ไม่มีเภสัชแพทย์ก็ยังเดิน Round ได้ไม่เป็นไร
ลองมองให้ลึกไปอีกนะครับ ลองเปลี่ยนมุมมองเป็นคำถามเล็กน้อยดู
- ไม่มีเภสัชแล้วพยาบาลจะทราบหรือไม่ ว่ายาตัวไหนบดได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร ถ้าบดไม่ได้แล้วจะต้องให้ยาคนไข้จะทำอย่างไร
- ถ้าพยาบาลต้องการให้ยาเด็กเล็ก แต่ยารสชาติไม่ได้เรื่องเอาซะเลย เราที่เป็นเภสัช ไม่ต้องมีความรู้เลิศ เพอร์เฟ็คเรื่องการตั้งสูตรตำรับออกมาหรอกครับ เราแค่ต้องรู้ว่าจะทำยังไงเพื่อกลบรสให้ยามันอร่อยและเด็กยอมกินยา
- ยาบางตัวต้อง feed ตอนท้องว่างจริง เช่น Phenytoin เพราะอาหารมีผลลดการดูดซึมของยาได้มากถ้ามีเภสัชไปอยู่สามารถแนะนำวิธีที่ถูกต้องได้หรือไม่
- แพทย์เดิน Round รู้ว่าผู้ป่วยมี Underlying disease อะไรบ้างแต่ไม่รู้เลยว่าคนไข้เคยได้ยาอะไรมาแล้ว ใครล่ะจะมาช่วยทำ Medication reconciliation ได้
- ถ้าผู้ป่วยแพ้ยามาซักตัวแล้วมีความจำเป็นต้องใช้จริง ใครจะเป็นคนเสนอยาตัวเลือกอื่นๆ ได้อีก
นึกออกประมาณนี้ล่ะครับ เพราะงั้นลองคิดดูสิว่าเราเองก็มีคุณค่าตั้งหลายๆ อย่างแต่เราเคยมองมันบ้างรึเปล่า ดังนั้นการขึ้นไปบน Ward นั้นอาจไม่ใช่การหา DRP เสมอไปแต่เป็นการไปสร้างประโยชน์ด้านอื่นๆ เพื่อเป้นการสร้างคุณค่าให้กับวิชาชีพของเราด้วย
ท้ายที่สุดเลยนะครับ การที่เรามีใจรักอยากทำประโยชน์ให้แก่คนไข้จริงนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าการทำงานเป็นทีมถ้าเราต้องการเป้นส่วนหนึ่งของทีม เราต้องทำให้ทีมรักษาเห็นก่อนว่าเราไม่ใช่ "ตัวปัญหา" หรือ "ตัวจับผิดการทำงาน" พร้อมกับแสดงคุณค่าของเราออกมา
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยนะครับคือ "ความอดทน" หวังว่าเพื่อนที่อ่านเรื่องนี้แล้วคงจะมีไอเดีย หรือมองการทำงานบน Ward ในแง่บวกมากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามการทำงานในชีวิตจริงนั้นอาจไม่ได้สวยหรู เหมือนอย่างที่เราจิตนาการเอาไว้แต่ ผมเชื่อว่าหลายคนจะสามารถปรับตัว ให้เข้ากับสถานะการณ์และสร้างคุณค่าให้แก่วิชาชีพของเภสัชกรต่อไปได้นะครับ
Labels:
Case,
Case study